กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือหอการค้าญี่ปุ่น และเจโทร ให้ข้อมูลเชิงลึกการลงทุนในอีอีซี หวังดึงนักธุรกิจญี่ปุ่นร่วมลงทุนมากขึ้น เผยมีนักลงทุนกว่า 1 พันรายแสดงความสนใจลงทุนแล้ว
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับ หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JCC) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Eastern Economic Corridor (EEC) Workshop ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ ECC เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ รูปแบบการลงทุน
พร้อมกันนี้ได้เผยถึงความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน EEC โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ จำนวน 4 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ สำนักงาน BOI สำนักงาน EEC การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมสรรพากร เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในเขต EEC โดยมีนักลทุนจากญี่ปุ่นราว 100 ราย เข้าร่วมงาน
สำหรับการจัดงานดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากได้มีโอกาสพบกับประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ประธาน JETRO และคณะ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่านักลงทุนญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ รูปแบบการลงทุน และความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน EEC การจัดงานดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วน เศรษฐกิจที่ดีกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งหวังให้โครงการ EEC เป็นการสร้างฐานความเจริญใหม่ที่มีศักยภาพสูง (New High Potential Growth Platform) ที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตแบบทั่วถึงทุกภาคส่วน (Inclusive Growth) ในรูปแบบ WIN-WIN ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในพื้นที่ EEC จำนวนกว่า 1,000 บริษัท ที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่กรกฎาคม ทีผ่านมา JCC และ JETRO ได้สำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อการลงทุนและทำธุรกิจในไทย พบว่า มีทิศทางความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นจากระดับ 14 เป็น 30 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 36 ในช่วงครึ่งปีหลัง ก่อนปรับขึ้นมาเป็น 40 ในครึ่งแรกของปี 2561 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาในเชิงพื้นที่ EEC รัฐบาลยังได้วางยุทธศาสตร์ในการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย โดยกำหนด Roadmap การพัฒนาและขับเคลื่อน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้น ที่จะพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหลักภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อระดับสากล เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ (Product) มาตรฐาน (Standard) และนวัตกรรม (Innovation) รองรับการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งในขณะนี้ทาง สศอ. อยู่ระหว่างเสนอมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า โดยบูรณาการทำงานร่วมกันกับกรมสรรพสามิต และ BOI เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต วิจัย และพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งชิ้นส่วน โดยผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์จากการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์นี้
อีกทั้ง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ถือเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนการยกระดับสู่ Industry 4.0 โดยได้กำหนดแนวทางพัฒนาโดยใช้มาตรการขับเคลื่อนแบบผสมผสาน เน้นการส่งเสริมให้ SMEs ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตด้วยการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และแก้ไขปัญหาเรื่องแรงแรงต่างด้าวได้อีกทางหนึ่งควบคู่กับการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม เช่น การจัดตั้ง Center of Robotics Excellence (CoRE) เพื่อพัฒนาต้นแบบ ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรโดยเฉพาะ System Integrators (SI) และการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กระบวนการผลิต (Lean Automation System Integrators : LASI) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ผ่านทางบริษัท DENSO
รวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-Industry) ซึ่งไทยมีศักยภาพในเรื่องวัตถุดิบและความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม อีกทั้งยังมีความพร้อมของฐานอุตสาหกรรมเดิมที่สามารถพัฒนาไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy)
นอกจากนี้ สศอ. กำลังดำเนินการในการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เป็นลำดับต่อไป