เมื่อวันที่ 25 เมษายน กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ (TMF) ซึ่งเป็นมูลนิธิอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร ร่วมกับพันธมิตรได้แก่ กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีปิดโครงการพระราม 4 โมเดล: การปลดล็อคข้อมูลการจราจรเพื่ออนาคตที่ดีกว่า (พระราม 4 โมเดล) เพื่ออธิบายสิ่งที่ได้เรียนรู้และข้อเสนอแนะจากโครงการที่ดำเนินการมากว่า 3 ปีโดยการใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลางเพื่อหาแนวทางลดปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยมุ่งเน้นที่ถนนพระราม 4 เป็นพื้นที่ทดลองทำการรวบรวมข้อมูล และหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพในการลดปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการจราจร
ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายมนตรี เดชาสกุลสม และ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีปิด รับทราบผลการดำเนินงานของโครงการ และได้แสดงความคิดเห็น รวมถึงแขกผู้มีเกียรติท่านอื่นๆ ที่ได้ร่วมงาน ได้แก่ มร. ปาซานา คุมาร์ กาเนซ ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิ โตโยต้า โมบิลิตี้ ดร. จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต จิรสันต์ แก้วแสงเอก ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการจุฬายูนิเสิร์ช จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
โครงการพระราม 4 โมเดล เป็นโครงการต่อเนื่องจาก “โครงการสาทรโมเดล” และดำเนินการโดยทีมงานเดียวกันตั้งแต่ปี 2558-2560 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจากการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาอันหลากหลาย บริการถรับส่ง Smart Shuttle Bus การเหลื่อมเวลาทำงาน บริการจอดแล้วจร (Park & Ride) และนำมาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาการจราจร และนำเสนอแก่หน่วยงานรัฐและกรุงเทพมหานครเพื่อขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพ และมาตรการหลายๆ อย่างเช่น การจัดช่องจราจรพิเศษ ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน
โครงการสาทรโมเดลดำเนินการประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามเป็นการดำเนินการที่อาศัยวิธีการลองผิดลองถูกจากสมมติฐานที่ตั้งขึ้น ทางพันธมิตรเชื่อว่ามีวิธีการที่ถูกต้องและแม่นยำมากกว่า โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการจราจร พระราม 4 โมเดลจึงเกิดขึ้นโดยเป็นโครงการที่ออกแบบโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ เพื่อศึกษาและทดสอบความสามารถในการใช้วิธีแก้ปัญหาขั้นสูง โดยใช้ข้อมูลที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางเพื่อแก้ปัญหาการจราจรบนถนนพระราม 4 สาเหตุที่เลือกถนนเส้นนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการจราจรคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และเป็นพื้นที่ที่ทางภาครัฐให้ความสำคัญ โดยมีมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ ให้การสนับสนุนเงินทุน จำนวน 52ล้านบาท