กิจกรรม & CSR

มิชลินจับมือ กยท.สร้างฝายชะลอน้ำในภาคเหนือ

1.5kviews

ภายใต้จุดยืนองค์กรในเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุดและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด โดยมุ่งนำวัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์กลับมาสร้างคุณค่าใหม่หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย  มิชลิน ได้สนับสนุนยางใช้แล้วจำนวน 140 เส้นให้กับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อใช้เป็นวัสดุหลักในการสร้างฝายชะลอน้ำสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรแก่ชุมชนใน 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย ตาก และน่าน

นายเสกสรรค์ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด เปิดเผยว่า ฝายชะลอน้ำจากยางมิชลินเป็นการต่อยอดองค์ความรู้จากผลงานของวิทยาลัยเทคนิคเชียงรายที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์จากยางใช้แล้วที่มิชลินจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับอาชีวะทั่วประเทศได้นำเสนอแนวคิดในการนำยางรถยนต์เก่ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์

“ทั้งโครงการฝายชะลอน้ำจากยางมิชลินและโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์จากยางใช้แล้วล้วนเป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งมิชลินให้ความสำคัญ ด้วยเล็งเห็นว่าการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุดจะก่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มต่อสินค้า กลายเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทในอนาคต ทั้งยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีบนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกับโลกอย่างสมดุล” นายเสกสรรค์ กล่าว พร้อมเสริมว่า “การนำแนวคิดของเยาวชนมาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมโดยร่วมมือกับ กยท. และสมาชิกชุมชน ยังถือเป็นตัวอย่างของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย”

อนึ่ง กลุ่มมิชลินชูแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เป็นกลไกขับเคลื่อนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร โดยมุ่งทำตลาดสินค้าและบริการที่ทุกขั้นตอน…ตั้งแต่ออกแบบจนสิ้นสุดวงจรชีวิต…ช่วยลดการใช้ทรัพยากร รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด ตามแนวทาง “4R” ซึ่งประกอบด้วย Reduce (การลด) หมายถึงการผลิตยางรถยนต์ที่มีน้ำหนักลดลง การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการลดปริมาณสะสมของยางรถยนต์ใช้แล้ว, Reuse (การใช้ซ้ำ) หมายถึงการซ่อมยางรถยนต์ การเซาะร่องดอกยางใหม่ (Regrooving) และการหล่อดอกยางใหม่ (Retreading) เพื่อยืดอายุการใช้งาน, Recycle (การแปรรูปกลับมาใช้ใหม่) หมายถึงการนำยางรถยนต์ที่หมดอายุใช้งานมาแปรรูปหรือปรับสภาพให้เกิดประโยชน์อื่นต่อ เช่น ประยุกต์เป็นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น หรือ ฝายชะลอน้ำ ฯลฯ  และ Renew (การใช้วัตถุดิบหมุนเวียน) หมายถึงการเลือกนำวัตถุดิบที่หมุนเวียนได้มาใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์เพิ่มขึ้น

นายทิพมล เมียงเมิน ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดน่าน กล่าวถึงโครงการฝายชะลอน้ำ ที่ตำบลยาบหัวนา อำเภอเวียงสา ว่า “การสร้างฝายชะลอน้ำแห่งนี้ไม่เพียงช่วยให้ชุมชนในพื้นที่กว่า 20 ครัวเรือนซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้มีน้ำอุปโภคบริโภคและใช้ทำการเกษตร แต่ยังช่วยชะลอการไหลแรงของน้ำในช่วงฤดูฝน สร้างความชุ่มชื้นแก่ป่าต้นน้ำในช่วงฤดูแล้ง ถือเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์  อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความสามัคคีของชุมชนในการมีส่วนร่วมสร้างและดูแลรักษาฝายแห่งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเจตนารมณ์ของ กยท. และ มิชลิน ต่อไป”

ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” และแนวทาง “4R” มิชลินตั้งเป้าว่าภายในปี 2591 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า จะใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตยางรถยนต์เพิ่มขึ้นให้ได้ถึง 80% จาก 28% ณ ปัจจุบัน โดยจะเน้นไปที่วัตถุดิบชีวภาพ อาทิ ยางธรรมชาติ น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ และมุ่งให้ยางทุกเส้นเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานแล้วสามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ 100% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 50%

 

บรรณาธิการ Buzzbiz
อดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาค เศรษฐกิจ รถยนต์ ที่เดินทางอยู่บนฐานันดอน 4 มานาน นับ30 ปี