มอเตอร์สปอร์ตเศรษฐกิจ

ถอดโมเดล ”บุรีรัมย์ สแตนดาร์ด” จะเลียนแบบไม่ใช่เรื่องง่าย  !

1.4kviews

ประสบความสำเร็จอย่างดงาม สำหรับการจัดแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโลก โมโต จีพี ครั้งแรกในประเทศไทย รายการพีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2018  ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมียอดผู้ชมตลอดทั้ง 3 วัน ทะลุ 222,535 คน และได้รับคำชมจาก ดอร์น่า สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์โมโตจีพีว่า สามารถจัดได้เป็นระเบียบเรียบร้อยและราบรื่นที่สุดครั้งหนึ่ง  แม้จะเป็นการจัดครั้งแรกก็ตาม ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประเมินว่า แม้ไทยต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ปีละ 280 ล้านบาท แต่ผลตอบรับทางเศรษฐกิจทำให้มีเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท  มียอดเข้าพักโรงแรม  12,000 ห้อง และเต้นท์พักแรมอีก 3,500 หลัง  และทำชื่อเสียงของจังหวัดบุรีรัมย์ขจรไปในระดับอินเตอร์

มาดูเบื้องหลังการบริหารจัดการของ”เนวิน ชิดชอบ” หัวเรือใหญ่ของจังหวัดบุรีรัมย์กันดีกว่า ในการปลุกจังหวัดที่เคยเป็น ”ทางผ่าน” มาเป็น “จุดหมายปลายทาง” ที่ใครๆก็อยากไปหา ด้วยแนวคิดบริหารจัดการแบบ “เวิลด์ สแตนดาร์ด” ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “บุรีรัมย์ สแตนดาร์ด”คือต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

ทันทีที่ไทยตกลงจัดโมโตจีพีที่บุรีรัมย์ ปัญหาที่ตามมาคือโรงแรมที่พักไม่เพียงพอผู้เข้านับแสนคน จะสร้างเพิ่มเติมก็คงไม่ทัน แต่ทางจังหวัดบุรีรัมย์และทีมงานเนวินใช้วิธีให้ผู้มีบ้านพัก ห้องเช่า  โฮมสเตย์  ในจังหวัดบุรีรัมย์มาลงทะเบียนไว้และประสานงานกับ Airbnb (แอร์บีเอ็นบี) บริษัทชั้นนำของโลกด้านการบริการห้องพัก และร่วมมือกับ B-STAY   จัดหาที่พักให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้าชมโมโตจีพี  ส่วนหนึ่งก็จะไปพักในจังหวัดใกล้เคียงอย่างสุรินทร์และนครราชสีมา

การคมนาคมสัญจรมายังสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ก็เป็นเรื่องสำคัญ แท็กซี่ที่มีอยู่เพียง 15 คันไม่เพียงพอรองรับนักท่องเที่ยวนับแสนได้อย่างแน่นอน ทีมงานจึงจัดการดึง Grab  เข้ามาช่วยบริหาร ให้คนบุรีรัมย์ที่มีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ มาขับ Grab รับส่งนักท่องเที่ยว โดยในจังหวัดบุรีรัมย์มียอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์สะสมรวมประมาณ 500,000 คัน ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก

และที่เด็ดกว่านั้น คือการระดมรถจักรกลการเกษตรหรือรถอีแต๋นทั้งจังหวัด  1,200 คัน มาตกแต่งผ้าขี่ม้าและจัดเป็นรถ “ชัตเตอร์ แต๋น”คอยรับส่งนักท่องเที่ยวแต่ละจุดภายในสนามช้างฯสร้างความน่าสนใจให้กับผู้ชมทั้งสนาม เก๋ไก๋ขนาดที่เมื่อจบการแข่งขันและเคลียร์ผู้ชมออกจากสนามแล้ว ซีอีโอ ของดอร์น่า สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์โมโตจีพี ขอสวมบทโชเฟอร์ขับ “ชัตเตอร์ แต๋น” พาทีมงานทัวร์บนแทรคสนามช้างฯด้วยตัวเอง  บางคนถือโอกาสเซลฟี่กันอย่างสนุกสนาน

หลายๆคน รู้สึก อิจฉาคนบุรีรัมย์  อยากได้”เนวิน ชิดชอบ” ไปช่วยสร้างความเจริญให้กับจังหวัดของตัวเอง แต่เมื่อถอดโมเดล “บุรีรัมย์ สแตนดาร์ด” ออกมาแล้ว จะพบว่า  จังหวัดอื่นยากที่จะเลียนแบบโมเดลนี้  โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ เนื่องจากขาดความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวเหมือนอย่างที่คนบุรีรัมย์ให้ความร่วมมือกับ”บุรีรัมย์ โมเดล”

บุรีรัมย์ เคยเป็นแค่”ทางผ่าน” ไม่มีใครอยากแวะไปเที่ยว เพราะคำเปรียบเปรยว่า “ไปบุรีรัมย์ ต้องตำน้ำกิน”นั้นคือสิ่งที่ท้องถิ่นมีความน้อยเนื้อต่ำใจมาโดยตลอด แต่เมื่อ ”เนวิน”ตั้งเป้ายกระดับเมือง”ทางผ่าน”ให้เป็น”เมืองจุดหมายปลายทาง” โดยเริ่มที่กีฬาฟุตบอล จึงได้รับความร่วมมือและการตอบรับจากคนพื้นที่อย่างมากมายจาก GU 12 เสื้อทีมฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ขายหมดอย่างรวดเร็วในวันแรกที่เปิดขาย  บ่งบอกว่า จังหวัดบุรีรัมย์มีตัวตนอย่างแท้จริง

ความร่วมมือร่วมใจในการสร้างเมืองกีฬาอย่างเข้มข้น สไตล์”บุรีรัมย์ โมเดล” ก่อให้เกิดความน่าทึ่งเกินคาดคิด  อย่างการจัดงาน บุรีรัมย์ มาราธอน ครั้งแรก เมื่อจบงานกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอ ทาวน์ของกลุ่มนักวิ่งทันที ถึงกับนิยามว่า เป็นงานวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดในประเทศไทย ด้วยระบบการจัดงานที่เวิลด์ สแตนดาร์ด  คนบุรีรัมย์ที่อาศัยอยู่ในเส้นทางวิ่งมาราธอนให้ความร่วมมือกับจังหวัดอย่างเต็มที่ รถทุกคันถูกเคลียร์ออกจากท้องถนน ไม่มีจอดขวางเส้นทางวิ่งสักกะคัน ถนนหนทางถูกล้างทำความสะอาดเรียบร้อยก่อนเริ่มงาน  หมา แมว สัตว์ทุกชนิดถูกเก็บเรียบ ไม่ให้ออกมาไล่เห่านักวิ่งสักกะตัว แถมตลอดการวิ่งยังมีกองเชียร์ทั้งเด็กนักเรียนและชาวบ้านเจ้าถิ่นออกมาส่งเสียงเชียร์ตั้งแต่เช้ามืด ผลที่ตามมาคือ นักวิ่งขอสมัครงวิ่งของปีหน้าทันทีที่จบงาน

เช่นเดียวกับการแข่งขันโมโตจีพี 2018  นอกจากการบริหารจัดการของผู้จัดที่ดำเนินการได้แบบ “เวิลด์ สแตนดาร์ด”แล้ว น้ำใจไมตรีและความร่วมไม้ร่วมมือของชาวบุรีรัมย์ได้รับการกล่าวขานอย่างมาก ชาวเมืองเคลียร์รถจากท้องถนนเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางสัญจรอย่างสะดวก หลายคนผันตัวเองเป็นอาสาสมัคร “Ask Me” ให้ข้อมูลและคำแนะนำทุกเรื่องแก่นักท่องเที่ยว เด็กๆจิตอาสาเป็น “Gu เก็บ”ดูแลด้านความสะอาด  แม้แต่เกษตรกรท้องถิ่นยังเข้ามามีส่วนร่วมนำรถอีแต๋นสำหรับขนข้าวขนถุงปุ๋ยมาตกแต่งใหม่ด้วยผ้าขาวม้านำมารับเป็นรถ “ ชัตเตอร์ แต๋น” รับส่งนักท่องเที่ยวบริเวณสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต สร้างสีสันให้งานโมโตจีพีได้อย่างไม่คาดคิด

ความสำเร็จและความร่วมมือของคนบุรีรัมย์ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจจองที่พักสำหรับการชมโมโตจีพี 2019 โดยทันที  คนบุรีรัมย์ที่เก็บบ้านพักว่างๆไว้ก็เริ่มปรับปรุงเพื่อปล่อยให้เช่าในช่วงการแข่งขัน

หลายๆคนคิดว่าจะนำ โมเดล “บุรีรัมย์ สแตนดาร์ด”ไปใช้พัฒนาจังหวัดตัวเอง ก็บอกเลยว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  เพราะแม้”เนวิน ชิดชอบ” จะมีไอเดียในการพัฒนาบุรีรัมย์ให้เป็นเมืองกีฬาที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว แต่จะไม่ประสบความสำเร็จเลยหากขาดกลไกสำคัญคือความร่วมมือไม้ร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวของคนท้องถิ่นเจ้าของบ้านตัวจริง ก่อนหน้านี้คนบุรีรัมย์ไม่มีอะไรจะอวดมันจึงเป็นแรงผลักดันที่จะสร้างการรวมพลังอย่างแข็งขันให้คนที่อื่นประทับใจได้  ซึ่งพอหันมองจังหวัดอื่นแล้วเหนื่อยแทน  หลายๆเมืองไม่อาจผลักดันโครงการสำคัญๆได้ เนื่องจากคนพื้นที่จะมองเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ใช้ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจและช่องทางทำมาค้าขาย

บรรณาธิการ Buzzbiz
อดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาค เศรษฐกิจ รถยนต์ ที่เดินทางอยู่บนฐานันดอน 4 มานาน นับ30 ปี