นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 35” เปิดเผยว่า “งานปีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ด้วยการสนับสนุนจาก บริษัทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนผู้เข้าชมงาน และสื่อมวลชนทุกแขนง”
สำหรับยอดจองรถยนต์จาก 36 ผู้ผลิต มีจำนวนทั้งสิ้น 44,189 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.9 % โดย 5 อันดับสูงสุดได้แก่ อันดับ 1 ฮอนด้า 6,842 คัน อันดับ 2 มาสด้า 6,509 คัน อันดับ 3 โตโยต้า 5,907 คัน อันดับ 4 อีซูซุ 4,437 คัน และอันดับ 5 มิตซูบิชิ 3,619 คัน
โดยเมื่อแยกตามประเภทรถแล้ว พบว่า รถเก๋งได้รับความสนใจสูงสุด มีสัดส่วนยอดขาย 38.9 % ใกล้เคียงปีก่อน (38.7 %) แบ่งเป็นเก๋งซีดาน 25.4 % และแฮทช์แบค 13.5 % โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ฮอนด้า ซีวิค ฮอนด้าซิตี้ มาสด้า 2,ฮอนด้า แจ๊ซ และเอ็มจี 3
ขณะที่รถอเนกประสงค์ SUV มีสัดส่วน 34.3 % เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย (33.9 %) 5 อันดับแรก ได้แก่ มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต เอ็มจี แซดเอส ฮอนด้าซีอาร์-วี ฮอนด้า เอชอาร์-วี และฟอร์ด เอเวอเรสต์
ส่วนรถกระบะมีสัดส่วนยอดจอง 17.2 % ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย (17.9 %) 5 อันดับแรก ได้แก่ฟอร์ด เรนเจอร์ อีซูซุ ดี-แม็คซ์ มิตซูบิชิ ไทรทัน โตโยต้า วีโว่ และนิสสัน นาวารา
ส่วนรถหรู มียอดขายรวม 4,213 คัน โดย 5 แบรนด์ ที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ เมอร์เซเดส เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู วอลโว่ อาวดี้ และปอร์เช่
รถจักรยานยนต์จาก 23 ผู้ผลิต ยอดขายรวม 9,169 คัน สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ อันดับ 1 ได้แก่ ฮอนด้า 1,531 คัน อันดับ 2 ยามาฮ่า 1,111 คัน อันดับ 3 แลมเบร็ตต้า (Lambretta)รถสกู๊ตเตอร์คลาสสิคสายพันธุ์อิตาเลียน ที่เข้าทำตลาดอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ทำให้มียอดจองถึง 1,012 คัน อันดับ 4 คาวาซากิ 775 คัน และ อันดับ 5 เวสป้า 605 คัน
ราคาเฉลี่ยของรถที่ขายได้ในงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,286,898 บาท (ปีก่อน 1,271,837 บาท) เงินหมุนเวียนภายในงานราว 56,000 ล้านบาท ผู้เข้าชมงานจำนวน 1,534,961 คน เพิ่มขึ้น 12.8 %