การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำฐานข้อมูลจากทุกภาคส่วนมาวิเคราะห์ในรูปแบบ Big Data ให้เห็นเป็นรูปธรรม พร้อมจะเร่งดำเนินการทดสอบการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบ Big Data ให้สมบูรณ์ภายในปี 2563
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน คนไทยยังประสบปัญหาการไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ รวมทั้งความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จึงได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579” ทั้งนี้ “ข้อมูลที่อยู่อาศัย” จึงมีส่วนสำคัญในการจัดทำนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศ แต่ปัจจุบันมีอยู่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จำเป็นจะต้องมีหน่วยงานหลักเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 เห็นชอบให้การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการรวบรวมและจัดหาข้อมูลเพื่อจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง เป็นต้น
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยที่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นฐานเดียวกัน รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลที่อยู่อาศัยในภาพรวมของประเทศอย่างเป็นระบบ สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลสารสนเทศทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศ โดยจะส่งผลดีต่อประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยได้สะดวกและรวดเร็ว ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย มุ่งสู่การพัฒนาและการจัดการสารสนเทศ เพื่อความมั่นคงในการมีที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเครือข่าย”
สำหรับการดำเนินงานการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัย มีแผนการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 บูรณาการข้อมูลและเชื่อมโยงระบบ โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.) กระทรวง พม. เป็นศูนย์กลางในการวางระบบและนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยออกเผยแพร่ และ กคช. เป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ระยะที่ 2 พัฒนาระบบและขยายโครงข่าย คือ การพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยจะประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการพัฒนาระบบให้เป็นระบบสากล และระยะที่ 3 พัฒนาเต็มรูปแบบ เพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ สามารถวิเคราะห์และเก็บข้อมูลในรูปแบบ Big Data ได้ภายในปี 2563